โซลาร์เซลล์ผลิตแสงจากอวกาศ ช่วยผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง
บริษัทในอังกฤษ เผยแนวคิดการผลิตพลังงานแนวใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนอวกาศ เพื่อใช้ผลิตพลังงานส่งกลับมาให้โลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย บริษัท สเปซ โซลาร์ (Space Solar) ได้พัฒนาวิธีการผลิตพลังงานให้ชื่อว่า แคสซิโอเปีย (CASSIOPeiA) ซึ่งจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแผงโซลาร์เซลล์แบบที่ใช้บนโลก ส่งขึ้นไปลอยอยู่ในวงโคจร
แผงโซลาร์เซลล์นี้ จะรับแสงอาทิตย์ และแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า และมีอุปกรณ์สำหรับแปลงพลังงานไฟฟ้าให้อยู่ในรูปแบบของคลื่นไมโครเวฟ ส่งจากอวกาศ ไปยังสถานีบนโลก ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายท้องถิ่น
ทั้งนี้บริษัทได้ทำการสาธิตแนวคิดหลักของเทคโนโลยีนี้ในระดับเล็ก ซึ่งก็คือความสามารถในการบังคับทิศทางลำคลื่นไมโครเวฟจากดาวเทียมค้างฟ้า ด้วยการใช้ตัวสาธิตที่ชื่อว่า แฮร์ริเออร์ (Harrier) ซึ่งจะทำการหมุนรอบตัวเองเพื่อให้มันหันเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา และทดลองส่งพลังงานไร้สายไปยังเครื่องรับที่เชื่อมต่อกับหลอดไฟ LED เพื่อพิสูจน์ว่าได้รับไฟฟ้าจริง
ซึ่งบริษัทเชื่อว่า วิธีการผลิตไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอวกาศ จะช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี และมีข้อดีคือ ไม่ต้องหยุดทำงานในเวลากลางคืน ไม่ต้องกลัวว่าเมฆจะบังแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ๆของการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนโลกในปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ มาร์ติน โซลเทา (Martin Soltau) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทยังกล่าวว่า วิธีการที่บริษัทพัฒนาขึ้น ทำให้โครงข่าย ได้รับพลังงานไฟฟ้าต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์ และยังสร้างพลังงานได้มากกว่าแผงโซลาร์เซลล์บนโลก 13 เท่า
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ คาลเทค (Caltech) หรือสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ก็ได้ประสบความสำเร็จในการลองใช้ยานอวกาศสาธิตพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ในอวกาศกลับมายังพื้นผิวโลก ในการทดลองชื่อว่า มาเปิล (MAPLE)
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของแหล่งพลังงานทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องผลิตบนพื้นโลก และยังใช้งานได้จริง และอาจจะกลายมาเป็นกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ในอนาคต